หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม
(๒๔๓๑-๒๕๑๗)
วัดป่าอรัญญวิเวก ตำบลบ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
     
 
นามเดิม
 
ตื้อ ปาลิปัตต์
 
เกิด
 
วันจันทร์ ที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๑ ตรงกับวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีชวด
 
 
บ้านเกิด
 
บ้านข่า ตำบลบ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัด นครพนม
 
 
บิดามารดา
 
นายปา และ นางปัตต์ ปาลิปัตต์
 
พี่น้อง
 
ท่านเป็นบุตรคนที่ ๕ ในจำนวน ๗ คน
 
อุปสมบท
 
อายุ ๒๑ ปี พ.ศ.๒๔๕๒ (มหานิกาย) ที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม กับพระอุปัชฌาย์คาน พ.ศ. ๒๔๗๑
 
 
ญัตติเป็นพระธรรมยุติกนิกาย ที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูพิศาลสารคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูนพีสีพิศาลคุณ (ทอง โฆสิโต) เป็นพระอนุสาวนาจารย์
 
เรื่องราวในชีวิต
 
สมัยเด็กท่านเป็นคนที่มีจิตใจกล้าหาญ มีนิสัยตรงไปตรงมา พูดตามความเป็นจริงไม่ชอบคนที่พูดจาโกหก
 
 
ไม่อ้อมค้อม เป็นลักษณะพิเศษ ประจำตัว พออายุได้ ๑๐ กว่าขวบ ท่านก็มาเป็นเด็กวัด ซึ่งอยู่ในละแวกบ้าน พอรู้ความบ้างแล้ว ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดข้างบ้านนั้นเอง เมื่อได้บวชสามเณรแล้ว ท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัย และหนังสือธรรมอย่างเอาใจใส่ มีความขยัน อดทน หนักเอาเบาสู้ เป็นที่รักของครูบาอาจารย์มาก ตระกูลของท่าน ไม่ว่าพี่น้อง บิดามารดา มีจิตใจเลื่อมใสในบวรพระพุทธศาสนาทุกคน ต่างก็เข้าบรรพชา-อุปสมบท ฝ่ายหญิง ก็ได้เข้าวัดทำการงาน อุทิศกายใจ แก่พระสงฆ์องค์สามเณร และได้บวชชี ไปจนตลอดชีวิต ตระกูลนี้เป็นตระกูลธรรมโดยแท้
ต่อมาท่านอายุได้ ๒๑ ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ การบวชในครั้งแรกท่านอยู่ฝ่ายมหานิกาย เพราะพระธรรมยุตหรือวัดธรรมยุตไม่มีในสมัยก่อนนั้น การบวชพระของท่านในครั้งแรกนี้ ท่านบวชได้ ๑๙ พรรษา นับได้ว่ามีอาวุโสมากทีเดียว ต่อมาได้มาอยู่ศึกษาพระกรรมฐานกับ หลวงปู่เสาร์ และ หลวงปู่มั่นแล้ว ท่านจึงได้เข้าบวชใหม่อีกครั้ง เป็นพระธรรมยุตนิกาย จนอายุพรรษาได้ ๔๖ อันเป็นวาระสุดท้ายแห่งชีวิตท่าน ก่อนบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ท่านได้นิมิตไปว่า...
“มีปะขาว ๒ คน เข้ามาหาท่าน คนหนึ่งแบกครกหิน คนหนึ่งแบกสาก แล้วมาวางไว้ ตรงหน้า ปะขาวคนแรกได้พูดขึ้นว่า “ไอ้หนู แกยกสากนี้ ออกจากครกได้ไหม ? ” หลวงปู่ตื้อตอบว่า...“ขนาดต้นเสาใหญ่ ผมยังแบกคนเดียว ประสาอะไรกับของเพียงแค่นี้” ว่าแล้วก็แบก ยกเท่าไรก็ไม่ขึ้น จนวาระที่ ๓ ท่านจึงยกขึ้น ต่อมาก็มีพระเถระ ๒ องค์ เดินตรงเข้ามาหา มีจริยาอาการงดงาม น่าเคารพเลื่อมใสมาก มีรัศมีกายเปล่งปลั่ง ท่านคิดว่า “ต้องเป็นพระอริยเจ้าแน่นอน” ท่านจึงได้เอ่ยขึ้นว่า “พ่อหนูน้อย เจ้ามีกำลังแข็งแรงมาก” พูดแล้วก็หายไป ท่านมาคำนึงถึงข้อนี้อยู่เสมอ
การที่เข้ามาบวชเรียนนั้นเป็นเพราะปู่ของท่าน มีความประสงค์ที่จะให้บวช ปู่ของท่านชื่อ “สิม” ท่านได้จัดผ้าไตร จีวร บาตร พร้อมเสร็จ ปู่สิมได้พูดว่า เห็นมีแต่หลานคนเดียวเท่านั้น ที่สมควรจะบวชให้ปู่ จึงได้เตรียมเครื่องบวชไว้ให้ ปู่อยากให้หลานบวชให้กับปู่สัก ๑ พรรษา หรือสัก ๗ วัน ได้ก็ยังดี ขอให้บวชก็แล้วกัน จะนานเท่าไรก็ได้ ไม่เป็นไร ตั้งแต่บัดนั้น ท่านได้บวชเป็นพระสงฆ์แล้ว ได้ออกปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ พบหมู่คณะแล้ว ได้พากันแยกย้ายสู่ป่า หาสถานที่อันเหมาะสม นั่งภาวนาสมาธิ เดินจงกรมตามอัธยาศัยเพื่อมุ่งมรรค ผล พระนิพพาน เพราะท่านมองเห็นทุกข์ภัยในวัฏสงสารอย่างชัดแจ้ง ท่านมีความต้องการที่จะหนีไปให้พ้นกองทุกข์อย่างแรงกล้า เหมือนกับบุคคลที่ถูกจับศีรษะกดลงไต้ ผิวน้ำแล้ว ดิ้นรน อยากจะขึ้นมาหายใจเหนือผิวน้ำฉะนั้น
จำเดิมนั้น ท่านมีความประสงค์ที่จะศึกษาพระปริยัติธรรม ในกรุงเทพฯ แต่ท่านมาเปลี่ยนใจเสียก่อน และในการเดินธุดงคกรรมฐาน ต่อมาท่านได้พบกับพระสุปฏิบัติองค์สำคัญๆ อีกมากมาย ล้วนมีบทบาทในการเผยแพร่สัจธรรม ของพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างเด็ดเดี่ยว เช่น... หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เป็นต้น
ภาคปฏิบัติธุดงคกรรมฐานก้าวแรก ของท่าน ได้เริ่มออกจากจังหวัดอุดรธานี มุ่งสู่หนองคาย แล้วได้ข้ามไปฝั่งประเทศลาว พักกรรมฐาน ไปอยู่ที่นครเวียงจันทน์อยู่หลายเดือน จากนั้นท่านได้เดินธุดงค์ต่อไป ท่านเป็นศิษย์อาวุโสองค์หนึ่ง ของบิดาพระกรรมฐานแห่งยุค คือ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เมื่อท่านเดินธุดงค์ไปจากจ.เชียงใหม่ ชาวเหนือแสนอาลัย ในการจากมา ได้ตั้งชื่อ วัดป่าหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เป็นอนุสรณ์ประดับจิตใจของพวกเขา
ท่านเป็นพระอริยสงฆ์ ผู้มีพลังจิตสูง มีความอาจหาญ แก่กล้าในธรรมปฏิบัติ ท่านมีความเชื่อมั่นในธรรมอย่างเด็ดเดี่ยว ท่านออกเดินธุดงค์ ไปตามป่าดง อย่างไม่ไยดีกับชีวิต ค่ำไหน ก็หยุดพักปฏิบัติธรรมที่นั่นอาหารถ้ามี ก็ฉัน ถ้าไม่มี ก็อด ไม่ทุกข์ไม่ร้อนวุ่นวายใจ วางใจเป็นกลาง ไม่ยึดถือสิ่งใดในโลกนี้ เท่ากับพระธรรมความพ้นทุกข์ ท่านเป็นพระอริยเจ้า ผู้ตรึงอยู่ในภูมิธรรมขั้นสูง มีประชาชนเคารพนับถือท่านมาก ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ไม่ว่าภาคใด ที่ท่านเดินธุดงค์ไปถึง จะมีประชาชนคอยอยู่รับใช้ท่านด้วยความเคารพศรัทธา
 
มรณภาพ
 
วันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๗ ณ วัดอรัญญวิเวก บ้านข่า จังหวัดนครพนม สิริอายุได้ ๘๖ ปี ๕ เดือน ๑๖ วัน
 
๔๘ พรรษา
ข้อมูลพิเศษ
 
* ท่านเป็นพระที่ทรงอภิญญารูปหนึ่งของศิษย์หลวงปู่มั่น
ธรรมโอวาท
 
 

“...นักกรรมฐานเจ้าทั้งหลาย การสอนกรรมฐานนอกรีต นอกรอย ให้โทษแก่เราผู้สอน ให้โทษแก่คนผู้นับถือ และจะหลงกันไป นอกรีตนอกรอยเหมือนเต่าตกบ่อน้ำ ผู้เป็นครูก็เป็นเต่าตกบ่อน้ำ ผู้เป็นศิษย์ ก็เป็นศิษย์ตกบ่อน้ำ (วนเวียนอยู่ในวัฏฏสงสาร ใจยังไม่ได้พบพระธรรม) เลยไม่ได้อริยเมตตรัยมาเป็นพระอรหันต์ ไม่ทันพระพุทธเจ้า แต่เห็นศาสนา...”


“...เมื่อเราถือศีลนี้ เวรมณี กายกับใจไม่ฆ่าสัตว์ พระพุทโธอยู่นี่ เวรมณี กายกับใจไม่ลักทรัพย์ พระพุทโธอยู่นี่ อยู่ที่ใจของเรานี่ซิ เวรมณีออกบวช รับศีลห้า ศีลแปด พระพุทโธ เกิดจากหัวใจ เวรมณี ไม่กล่าวมุสาวาท พระพุทโธเกิดจากหัวใจ ไม่เสพสุรา กัญชา ยาฝิ่น พระพุทโธเกิดที่ใจ…”


“...ตัวอะไรตาย ไอ้ตัวขันธ์มันตาย ตัวใจผู้เลิศผู้ประเสริฐ ใจไม่ตาย เหตุนั้น..........ที่ใจของเรา ตามพุทโธ ธัมโม สังโฆ คือ ใจดวงเดียว นั่นแหละ มันเป็นกิริยาเท่านั้นเอง พุทโธ เหมือนกับข้าวสาร ธัมโมเหมือนกับข้าวแช่ สังโฆ เหมือนกับ ข้าวสุก เป็นกิริยา ย่อเข้า มะพร้าวลูกเดียวนั่นแหละ พุทโธ เหมือนเปลือกมะพร้าว ธัมโม กะลามะพราว สังโฆ ชิ้นมะพร้าว...”

   
   
หน้าหลัก | หน้าก่อน | หน้าต่อไป   
     
     
 
วัดสันติธรรม ต.ช้างเผือก อ.เมือง จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๓๐๐
โทร. ๐๕๓-๒๒๑๗๙๒  ๐๘-๗๑๙๓-๓๑๖๙  ๐๘-๖๑๘๗-๓๙๔๒ และ ๐๘-๑๖๐๒-๗๕๐๐